ประวัติภาควิชาจิตวิทยา
การจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาจิตวิทยามีประวัติความเป็นมาพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงเริ่มมีการวางแผนและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2506 นั้น บูรพาจารย์คนสำคัญของการสอนวิชาจิตวิทยาในประเทศไทย คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย (Ph.D. Psychology, University of Michigan at Ann Arbor) ได้รับการทาบทามจากกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเข้าร่วมวางแผนแบบของมหาวิทยาลัยและการบริหารงานเช่น การจัดตั้งภาควิชาในแต่ละคณะ การร่างหลักสูตร และการวางแผนกระบวนวิชาเรียน ในขณะนั้นสภาวะของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย มีเสรีภาพเชิงวิชาการอย่างมาก (ตุ้ย ชุมสาย, 2532) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ได้รับมอบหมายให้เป็นกำลังหลักในการวางโครงสร้างคณะมนุษยศาสตร์และรับผิดชอบเป็นคณบดี โดยริเริ่มการสอนในสาขาวิชาที่เป็นตัวการที่ทำให้คุณภาพของความเป็นมนุษย์สูงขึ้น
สาขาวิชาจิตวิทยาเป็นวิชาเอกหนึ่งที่เริ่มมีการสอนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2507 และถูกจัดอยู่ภายใต้การบริหารของภาควิชามนุษยสัมพันธ์ ซึ่งเป็นภาควิชาที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นแหล่งที่รวบรวมสาขาวิชาต่าง ๆ ที่อยู่ในแนวการพัฒนาคณะมนุษยศาสตร์ของท่าน การผลิตบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยาในระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงนับเป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดการเรียนการสอนอย่างสมบูรณ์แบบ ภายหลังเมื่อการบริหารงานของคณะมนุษยศาสตร์มีการเติบโตขึ้น สาขาวิชาจิตวิทยาจึงถูกจัดตั้งเป็นภาควิชาจิตวิทยาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2512 จากสภาการศึกษาแห่งชาติ นับว่าเป็นภาควิชาแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรจิตวิทยาในระดับปริญญาตรี (พิสมัย วิบูลย์สวัสดิ์, 2552) ในช่วงเริ่มต้นการสอนวิชาจิตวิทยามีคณาจารย์รุ่นบุกเบิกได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุข เดชชัย (หัวหน้าภาควิชาคนที่ 2) รองศาสตาจารย์ ดร.จิรวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์ (หัวหน้าภาควิชาคนต่อมา) และอาจารย์ ดร.อำนวย ทะพิงค์แก ทั้งนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ได้ติดต่อมูลนิธิฟูลไบรท์ (Fullbright) เพื่อขอศาสตราจารย์ฟูลไบรท์มาช่วยสอนบัณฑิตรุ่นแรก ๆ ของสาขาจิตวิทยา ทำให้รากฐานของการเรียนการสอนสาขาจิตวิทยาในสมัยนั้นนับว่ามีความทันสมัยในระดับสากล
สำหรับการสอนในหลักสูตรปริญญาตรีรุ่นแรก ปี พ.ศ. 2507 เน้นการสอนวิชาจิตวิทยาพื้นฐาน และวิชาเอกทางด้านจิตวิทยาคลินิก เนื่องจากในสมัยนั้นประเทศไทยมีความต้องการบัณฑิตทางจิตวิทยาคลินิกมาช่วยงานด้านจิตเวชและสุขภาพจิต อย่างไรก็ตามสาขาจิตวิทยาคลินิกเป็นสาขาใหม่และยังไม่มีที่ใดเปิดสอนมาก่อนในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องอาศัยอาจารย์พิเศษในการพัฒนาหลักสูตร (จิรวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์, 2560) ดังนี้